อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร อยู่กึ่งกลางระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนราชวิถี และถนนพญาไท ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 5 ของถนนพหลโยธิน ( กม. 0 ของถนนพหลโยธินอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อยู่ห่างจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร ) โดยรอบของอนุสาวรีย์ฯ มีถนนรอบๆ เป็นวงเวียน
บริเวณเดิมของที่แห่งนี้ แต่ก่อนเคยเป็นสี่แยกเรียกกันว่า "สี่แยกสนามเป้า" แต่ในปัจจุบันอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นศูนย์กลางการคมนาคม ที่สำคัญของกรุงเทพฯ มีรถโดยสารให้บริการหลายเส้นทาง ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า และรถตู้ ตั้งแต่เด็กหลายคนนั่งรถผ่านไปผ่านมา อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร แต่ไม่เคยทราบว่าเขาสร้างเพื่ออะไร และมีที่มาเป็นอย่างไร ข้างล่างด้านในอนุสาวรีย์ฯ มีอะไรอยู่ จึงจะไขปริศนาข้อสงสัยนี้
ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่อเมริกา และ ยุโรป ทำท่าไม่อยากจะขายอาวุธให้ไทย ประเทศญี่ปุ่น จึงขายอาวุธทันสมัยให้ไทยถูกๆ เพราะหวังว่าวันหนึ่งจะได้ไทยเป็นพวก เอาอาวุธญี่ปุ่น ไปช่วยขับไล่ฝรั่งเศส ออกจากดินแดนที่ญี่ปุ่น หวังจะได้ครอบครองแหล่งทรัพยากรแทน โดยเฉพาะฝรั่งเศสในอินโดจีน
แต่เนื่องจากฝรั่งเศส แพ้กับฮิตเลอร์ แห่งเยอรมัน ในสงครามภาคพื้นยุโรปเร็วเกินไป รัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศส (สมัยนั้นเรียก อินโดจีนฝรั่งเศส หรือรัฐบาลวีชี่ ) ขาดน้ำเลี้ยง ญี่ปุ่นจึงบีบ เข้าเป็นพันธมิตรได้ง่ายๆ โดยรบกันเพียง 4-5 วันหลังการยกพลขึ้นบกที่เวียดนาม ฝรั่งเศสก็ยอมเปิดทางให้ญี่ปุ่นเข้าไปตั้งฐานทัพในญวนทางเหนือ เพื่อจะบุกจีนได้
ดังนั้นความจำเป็นที่จะยืมมือไทย ช่วยผ่อนแรงบ้างก็หมดไป ไทยจึงหาข้ออ้างเรียกร้องขอดินแดนคืนจากฝรั่งเศส โดยส่งทูตไปทั้งโตเกียว และเบอร์ลิน เพื่อขออนุญาตทะเลาะกับอินโดจีนฝรั่งเศส รัฐบาลกลางทั้งสองชาติยอมเปิดไฟเขียวให้ โดยมีข้อแม้ว่า จะต้องไม่บุกเกินพื้นที่ๆ เคยเป็นของไทยมาก่อนเท่านั้น ส่วนอื่นๆ ห้ามแตะ
พ.ศ.2483 สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อได้ไฟเขียวจากรัฐบาล 2 ชาติ ไทยได้เรียกร้องดินแดนคืนจากอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งก็ได้เร่งรัดให้ทำสัตยาบัน ไม่รุกรานอินโดจีนฝรั่งเศส เป็นการตอบแทนตามที่ได้เคยทำสัญญาไว้ โดยสัญญาดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ เมื่อแลกสัตยาบันกันเรียบร้อยแล้ว
รัฐบาลไทยให้คำตอบว่ายินดีจะทำตาม หากอินโดจีนฝรั่งเศส ยกดินแดนหลวงพระบาง ปากเซ ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ที่ฝรั่งเศสยึดไปเมื่อปี พ.ศ. 2447 คืนให้กับไทย และทำการปักปันเส้นเขตแดนในลำน้ำโขงให้เรียบร้อย นอกจากนี้ต้องรับประกันว่าจะยกดินแดนลาว ซึ่งเดิมเป็นอาณาจักรของไทยคืนให้ไทย หลังจากที่พ้นจากการปกครองของฝรั่งเศสแล้ว แต่อินโดจีนฝรั่งเศส ตอบปฏิเสธข้อเสนอนี้
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2483 อินโดจีนฝรั่งเศส ทำการทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม จึงเกิดเป็นกรณีพิพาทกัน และทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยทางรัฐบาลไทย ได้โต้ตอบโดยการทิ้งระเบิดเช่นเดียวกัน จึงเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันด้วยกำลังทหารและอาวุธ
ทหารต่างด้าวฝรั่งเศส ก็คือทหารรับจ้างรบ ที่รัฐบาลฝรั่งเศส ไม่สนประวัติของแต่ละคนจะเป็นโจร หรือฆาตกรมาจากไหนของโลก จะเชื้อชาติ หรือสัญชาติใด ไม่เกี่ยง หากทดสอบผ่านการฝึกอันทารุณได้ ทหารต่างด้าวจึงมีทุกสีผิว ฝรั่งเศส เอาไว้ส่งไปรบในบรรดาเมืองขึ้นต่างๆ เช่น ในอัฟริกา (คล้ายๆ นักรบ IS ของมะกันในอิรัก และซีเรีย)
โดยมีหน่วยทหารของฝรั่งเศสไปควบคุมอีกทีหนึ่ง ทหารฝรั่งเศส ประสพผลสำเร็จในการสร้างความเกลียดชังจากเจ้าของประเทศเดิม เพราะพวกนักรบรับจ้างนี้ จะฆ่าพลางปล้นพลาง การมารบกับทหารไทยในสมรภูมิเขมรครั้งนี้ พอแพ้ก็ปล้นชาวบ้าน เอาทรัพย์สินเศษเล็กเศษน้อยไปด้วย ไม่ยอมถอยกลับมือเปล่าๆ
ทหาร ที่เกณฑ์มาจากญวน และเขมรไม่เรียกว่าทหารต่างด้าว แต่เรียกว่าทหารพื้นเมือง พวกนี้ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฝรั่งเศสก็ไม่ไว้ใจที่จะให้ใช้อาวุธดีๆ รบกับไทยก็แตกพ่ายแทบจะไม่ได้รบ พอปะทะกันสักพัก ทหารญวนก็ล่าถอย ทหารฝรั่งเศสก็เลยยิงทหารญวนอีกทีหนึ่ง จนรัฐบาลฝรั่งเศส ต้องสั่งการให้กรมทหารต่างด้าวที่ 5 ซึ่งประจำการอยู่ที่อ่าวตังเกี๋ย เคลื่อนพลมา หวังจะตีโต้ทหารไทยให้กระเจิง
พล.ต. หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเป็นแม่ทัพบก ประกอบด้วย กองทัพบูรพา กองทัพอีสาน กองพลผสมปักษ์ใต้ กองพลพายัพ และกองพลผสมกรุงเทพ แผนปฏิบัติการรบ คือ ให้กองทัพบูรพา โดยกองพลวัฒนานคร ที่ยกมายึดพื้นที่เพื่อป้องกันชายแดนตั้งแต่ต้น ให้เข้าตีด้านประเทศเขมร รุกจากอรัญประเทศ สู่ศรีโสภณ และพระตะบอง เพื่อมุ่งเข้ายึดกรุงพนมเปญ
ส่วนกองพลจันทบุรี ให้ทำการเข้าตีทางไพลิน ไปบรรจบกับกองพลลพบุรี ที่พระตะบอง , กองพลพระนคร ให้ทำการยุทธบรรจบกับกองทัพอิสาน ที่รุกเข้าทางด้านสุรินทร์ สู่เสียมราฐ มายังศรีโสภณ บรรจบกับกองทัพอิสาน ที่จะรุกเข้าทางด้านสุรินทร์ เพื่อยึดเสียมราฐ นครวัต กำปงทม มีเป้าหมายที่พนมเปญเหมือนกัน จากนั้น ให้ทั้งสองกองทัพกวาดล้างข้าศึกขึ้นไปทางเหนือตามแนวแม่น้ำโขง เพื่อบรรจบกับกองพลพายัพ ที่จะรบจากลาวลงมาทางใต้
วันที่ 5 มกราคม 2484 กองทัพบูรพาก็ดีเดย์ กองพลลพบุรีเป็นหัวหอก เคลื่อนที่ผ่านกองพลวัฒนานคร ซึ่งกระจายกำลังรักษาชายแดนด้านอรัญประเทศอยู่ เข้าตีข้าศึกที่ด่านปอยเปต ซึ่งเป็นแนวหน้าของอินโดจีนฝรั่งเศส กองพลนี้มีกำลังสามกองพัน หน่วยแรกรุกเข้ายังที่ประตูชัยปอยเปต ซึ่งฝรั่งเศสดัดแปลงที่มั่น และวางกำลังตั้งรับแข็งแรงมาก
มีทั้งลวดหนามและดงกับระเบิด พอเห็นทหารไทยบุกเข้าไป ฝรั่งเศสก็เผาหญ้าแห้งเป็นเครื่องกีดขวาง การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด ฝ่ายไทยใช้ความพยายามถึง 2 วันกว่าจะสามารถบุกเข้าประชิดขนาดใช้ดาบปลายปืนเข้าตะลุมบอน จนฝรั่งเศสถอดใจ ต้องสั่งถอยปล่อยให้ทหารไทยยึดปอยเปตได้วันที่ 7 มกราคม แต่ฝ่ายไทย ก็บาดเจ็บล้มตายมาก
ต่อจากนั้นกองพันทหารอีก 2 พัน ก็รุกคืบหน้าต่อไปตามแนวถนนปอยเปต-ศรีโสภณ ราวประมาณ 20 กม. ถึงแนวตั้งรับของข้าศึก ซึ่งฝรั่งเศสสร้างเป็นพะเนียดคล่อมถนนไว้ ใช้เสาในป่า แต่เป็นไม้เนื้อแข็ง ฝังดินเรียงกันเป็นนิ้วมือ ใช้ขอนไม้ทั้งต้นมาวางซ้อนกันไว้เป็นชั้นๆ เจาะช่องไว้กว้างไม่เกิน 6 นิ้วไว้เป็นระยะ ๆ
ช่องนี้ใช้สอดปากกระบอกปืนยิงทหารไทย โดยอาศัยเสาเป็นเกราะกำบังกระสุนของทหารไทย ด้านหน้าขึงลวดหนามแขวนกระป๋องไว้เป็นระยะ เพื่อให้เกิดเสียงดัง ภายในที่มั่นขุดคูสนามเพลาะ ติดต่อถึงกันโดยตลอด และมีคลังเก็บกระสุนวัตถุระเบิดไว้จำนวนมาก ปกติเพนียดต้องทำทึบทั้งสี่ด้าน แต่ฝรั่งเศสทำไว้เพียงด้านหน้ายาวประมาณ 4 เส้น
ด้านข้างติดถนนสายพระตะบอง – ปอยเปต ทำไว้ไม่เกินหนึ่งเส้น เพราะยังทำไม่เสร็จ เนื่องจากทหารไทยก็รุกเข้าไปถึงเสียก่อน ทหารราบของไทย เคลื่อนที่ด้วยการเดินเท้าไปในเวลากลางคืน ประมาณ 3 ชั่วโมงก็มาติดอยู่ที่ลวดหนามหน้าแนวตั้งรับของข้าศึกนี้ โดยไม่ได้คาดการณ์มาก่อน จึงถูกฝ่ายฝรั่งเศสระดมยิงอย่างหนัก ฝ่ายไทยเกิดความระส่ำระสายรวนเรไปหมด ผู้บังคับบัญชาจึงต้องรายงานขอกำลังหนุนมาช่วย
แต่กว่าจะเคลื่อนกำลังมา กว่าจะถึงแนวรบก็ใช้เวลา 3 ชั่วโมง กองพันส่วนปะทะของไทย พอได้ข่าวกองหนุนกำลังมา ก็มีกำลังใจยึดพื้นที่รออยู่ได้โดยไม่ถอย พอมาถึงกองพันที่มาช่วยก็เคลื่อนที่เข้าตีโอบปีกทางด้านซ้ายจนสุดแนวป้องกัน แล้วเข้าตีด้านหลัง พอเห็นทหารไทยรบจริงจัง ฝ่ายฝรั่งเศสจึงแหวกวงล้อมถอยไป
ฝ่ายไทยสามารถยึดค่ายเพนียดได้ ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ฝ่ายไทยเสียกำลังพลของกองพันส่วนหน้าที่ปะทะไปในตอนแรกพอสมควร ในขณะเดียวกัน กองพลพระนคร ซึ่งมีกำลังสามกองพัน อยู่ทางด้านเหนือของกองพลวัฒนานคร ก็ได้เคลื่อนที่จากชายแดนไทย เข้าไปในดินแดนข้าศึกโดยกองพันแรก เคลื่อนที่ไปตามเส้นทางในภูมิประเทศ พอลึกเข้าไปประมาณ 3 กม.ก็ได้รับการยิงต้านทานที่บ้านยาง แต่ยิงกันไม่นานก็สามารถยึดได้
ส่วนอีกกองพันหนึ่ง เคลื่อนที่เข้าไปตามถนนอีกเส้นที่อยู่ห่างจากถนนปอยเปต-ศรีโสภณไปทางเหนือประมาณ 12 กม. เมื่อเคลื่อนที่เข้าไปได้ประมาณ 9 กม. ก็ถึง “บ้านพร้าว” ซึ่งข้าศึกได้วางกำลังตั้งค่ายใหญ่รับไว้ ฝ่ายไทยเข้าตีตั้งแต่วันที่ 6 - 11 มกราคม 2484 ฝรั่งเศสก็ถอยไปทางศรีโสภณ
ปล่อยให้ไทยเข้ายึดค่ายได้ แล้วพักกำลังพลไทยอยู่ที่บ้านพร้าวนั้น มีการส่งกำลังทหารออกลาดตระเวนต่อไปอีก 10 กม.ก็ไม่พบข้าศึก หลังจากวันนั้นไปแล้ว ทั้งกองทหารไทยและฝรั่งเศสต่างก็วางกำลังยันกันอยู่ โดยไม่มีการสู้รบใหญ่ เว้นแต่มีการปะทะระหว่างหน่วยลาดตระเวนบ้างเล็กน้อย
พอเพนียดถูกตีแตก ฝ่ายฝรั่งเศสก็เจ็บใจ จึงสั่งกองพันผสมทหารเสือมาจากไซ่ง่อน ทหารกองนี้เป็นทหารรับจ้าง มีชนเกือบทุกชาติสังกัดเป็นทหาร กิตติศัพท์การรบของทหารกองนี้ดังเหมือนพลุแตก จนได้เหรียญกัวเดอร์แกส์ แขวนธงประจำกอง
วันที่ 13 มกราคม 2484 ผู้บังคับกองพัน กับคณะ ได้ออกตรวจภูมิประเทศ สังเกตเห็นว่าเส้นทางต่อไปในดินแดนข้าศึกนั้น มีการปรับผิวถนนราบเรียบ และพบเครื่องหมายสำหรับปรับการยิงปืนใหญ่ของข้าศึก จึงสันนิฐานว่าฝรั่งเศส ได้ยอมถอยออกจากบ้านพร้าวนั้น เป็นกลลวงที่จะตีโต้กลับภายหลัง โดยได้วางแผนเตรียมการไว้แล้ว ถ้ากองพันทหารไทย ตั้งอยู่ที่เดิมน่าจะถูกโจมตีอย่างรุนแรง
ในเย็นวันนั้นเอง หน่วยลาดตระเวนของข้าศึกฝรั่งเศส ก็เข้ามาลอบยิงทหารหน่วยคอยเหตุส่วนหน้าของกองพัน แต่ไม่โดนใคร ทหารไทยใช้วิธีขับไล่ด้วยอาวุธปืนเล็ก ไม่ใช้อาวุธหนักและปืนกลถ้าไม่จำเป็น เพื่อลวงข้าศึกถึงศักยภาพในการรบของฝ่ายไทย การที่ข้าศึกเกิดลอบยิงเข้ามานี้ นี้ทำให้ไทยทราบได้ทันทีว่า ฝรั่งเศสใกล้จะโจมตีจะเอาที่มั่นคืนแล้ว
ทหารไทย ขออนุมัติเคลื่อนกำลังพลออกไปข้างหน้าอีกประมาณ 4 กม. แต่เมื่อรายงานไปทาง กองทัพบูรพา ก็ถูกสั่งห้ามไม่ให้หน่วยนี้เคลื่อนที่โดยเด็ดขาด เพราะจะผิดแผนที่กองทัพวางไว้ แต่ผู้บังคับกองพัน สั่งประชุมนายทหาร มีเห็นว่าอยู่ที่นี่ไม่ได้แล้ว ข้าศึกรู้ภูมิประเทศดี และคงกำหนดเป้าหมายไว้หมด ถ้าขืนถูกโจมตีเราจะเสียเปรียบมาก
ดังนั้นกองพันนี้ จึงเคลื่อนกำลังทั้งหมดออกจากที่ตั้งในตอนค่ำ เดินเท้าไปทางตะวันออกห่างจากที่เดิมประมาณ 4 กม.แล้ววางกำลังเรียงรายลงในห้วยแห้ง ที่หมายตาไว้แล้ว ลำห้วยนี้ขนานกับถนนที่ข้าศึกได้กรุยทางไว้ทั้งสองข้าง เป็นที่มั่นตามธรรมชาติแนวรูปตัวยู เหมาะสมที่สุดสำหรับจะใช้เป็นพื้นที่สังหาร
ทหารทุกคนเข้าที่ วางปืนกลหนักไว้ที่ก้นตัวยู แล้วทั้งกองพันถูกกำชับให้อยู่ด้วยความสงบ จะยิงพร้อมกันเมื่อได้รับคำสั่ง และให้ยิงตามแผนการยิงเท่านั้น ใครถูกกำหนดให้ยิงไปทางทิศใดก็ให้ยิงไปโดยเฉพาะทิศที่ว่า ถ้าทำเช่นนี้ในทางทฤษฎี พื้นที่สังหารจะไม่มีจุดอับกระสุนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว
วันที่ 15 มกราคม 2484 กลางคืน ทหารฝรั่งเศสสั่งเคลื่อนทัพ ประมาณ 03.00 น. เสียงเครื่องยนต์ของรถทหารฝรั่งเศส ก็แว่วเข้าหูทหารไทยที่นอนรออยู่ในลำห้วยแห้ง ปลุกประสาททุกส่วนให้ตื่นตัวขึ้นทันที ขบวนรถบรรทุกทหารฝรั่งเศส เข้ามาจอดห่างจากที่กองพันทหารไทยซุ่มอยู่ประมาณ 500 เมตร
คืนนั้นมืดมากจนทหารไทยแทบจะไม่เห็นทหารฝรั่งเศส ที่ถูกขนมาด้วยรถพ่วง พอรถจอดสนิทก็โดดลงมาเข้าแถวรอคำสั่ง ประมาณ 04.00 น. กองลาดตระเวนส่วนหน้าของฝรั่งเศส ก็เคลื่อนที่เข้ามาตามถนน และเดินข้ามสะพานทีทหารซ่อนตัวอยู่ข้างใต้ ทุกคนแทบจะไม่กล้าหายใจ กลัวว่าพวกฝรั่งเศสจะได้ยิน
ทหารฝรั่งเศส ข้ามสะพานไปได้สักพักก็หยุด แล้วคนเดินนำหน้า ก็หันหลังพาพวกเดินข้ามสะพานกลับไป ก็ฝรั่งเศสมันมากลางดึกเพราะหวังจะโจมตีไม่ให้ฝ่ายไทยรู้ตัว ฝรั่งเศสไม่ได้เอาหมามาด้วย เพราะเกรงจะเห่าแล้วทหารไทยได้ยินเข้าก็คงจะเสียการใหญ่ หัวหน้ากองลาดตระเวน ไปรายงานให้นายทราบว่าทุกอย่างเป็นปกติดี
ประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อมา นายทหารฝรั่งเศสสั่งการให้ทหารต่างด้าว เคลื่อนพลเข้าโจมตีบ้านพร้าวตามแผน พร้อมกองผสม ที่จะเข้าตีบ้านยาง ด้วยความประมาท และคิดว่ายังต้องเดินอีกตั้ง 4 กิโลเมตรจึงจะถึงที่ตั้งค่ายบ้านพร้าว ยังมีเวลาอีกมาก ฝ่ายฝรั่งเศส ทั้งหมดจึงเดินแถวกันมาอย่างสบายๆ พูดคุยกันไปด้วย บางคนสูบบุหรี่
Credit: เสธ น้ำเงิน3
** ตอนต่อไปจะเป็นการรบที่นองเลือดที่สุด ระหว่างไทยกับฝ่ายฝรั่งเศส และไขปริศนาว่าข้างล่างด้านในอนุสาวรียชัยสมรภูมิมีอะไร ดินที่ถมมาจากไหน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น