คนไทยรู้จักเครื่องบินครั้งแรกเมื่อไร และมีดอนเมืองทำไม (ตอนแรก)
หลังจากที่อินโดจีนฝรั่งเศส ได้ใช้กำลังแย่งชิงดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (ลาว) ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง (ไชยบุรี และจำปาศักดิ์ ของลาว) และเขมรส่วนใน (พระตะบอง, เสียมราฐ และศรีโสภณของเขมร) ไปจากไทยไปอย่างไม่เป็นธรรมไปแล้วถึง 5 ครั้ง ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้บ่มเพาะเป็นความเจ็บแค้น อยู่ในจิตใจของคนไทยเรื่อยมา
เมื่อตอนก่อนหน้าที่แล้ว ได้เล่าถึงความสามารถในการสู้รบ ของทหารไทยในสงครามอินโดจีน โดยทหารบกไทย สู้รับกับฝ่ายอินโดจีนฝรั่งเศส ที่สมรภูมิบ้านพร้าว ในเขมร และทหารเรือไทย ต่อสู้กับกองทัพเรืออฝรั่งเศส ในสมรภูมิเกาะช้าง
วันที่ 31 มกราคม 2454 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีวัตถุแปลกประหลาดบินวนไปเวียนไปมาบนท้องฟ้า เหนือมหานครกรุงเทพฯ สร้างความพิศวงงงงวย ตื่นตะลึง ตื่นตาตื่นใจ ในสิ่งมหัศจรรย์นี้ให้กับคนไทย ที่อยู่บนพื้นดินในเวลานั้นเป็นอย่างมาก
จนกระทั่งเมื่อเจ้าสิ่งนั้นร่อนลงสู่พื้น ณ สนามม้าสระปทุม (ราชกรีฑาสโมสร) คนไทยก็ได้รู้จักกับ “เครื่องบิน” เป็นครั้งแรก ในครั้งนั้นคนไทยเราแทบจะไม่เชื่อสายตาตนเองเลยว่า มนุษย์ก็สามารถบินได้เหมือนกัน เครื่องบินวันนั้นเป็นแบบปีก 2 ชั้นแบบอังรี ฟามัง 4 (Henri Farman IV) ชื่อ Wanda นักบินเบลเยี่ยมมาแสดงการบินให้คนไทยได้เห็นกับตา
พล.อ.สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ได้มาทอดพระเนตรเหตุการณ์สำคัญนี้ด้วย และนั่นคือจุดเริ่มต้น ที่ทำให้ประเทศไทยของเรา มีกิจการบินเป็นของตนเอง จากวันนั้นเอง รัชกาลที่ 6 และเจ้านายอีก 2 พระองค์คือ เสนาธิการทหารบก และ เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
ได้ทรงตระหนักเห็นถึงความสำคัญที่ประเทศสยาม ต้องมีเครื่องบินไว้ป้องกันประเทศชาติจากภัยคุกคามต่างๆ ดังนั้นการคัดเลือกนายทหารระดับหัวกะทิ เพื่อที่จะถูกส่งไปเรียนวิชาการบินจึงเริ่มต้นขึ้นในเวลานั้น มีนายทหารจำนวน 3 นายที่ถูกคัดเลือก ถูกมอบภารกิจพิเศษ คือ ไปศึกษาวิชาการบิน ที่โรงเรียนการบินนิเออปอร์ต ณ สนามบินวิลลาคูเบลย์ ประเทศฝรั่งเศส
พ.ศ. 2455 เวลา 1 ปีก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้จัดตั้ง “แผนกการบิน” ขึ้น โดยอยู่ในบังคับบัญชาของ พล.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน จเรการช่างทหารบก และมีการสร้างโรงเก็บเครื่องบินชั่วคราว ไว้ที่สนามม้าสระปทุม ในปีถัดไป
พ.ศ. 2456 เมื่อนายทหารทั้ง 3 คน สำเร็จหลักสูตรการบินแล้ว จึงเดินทางกลับประเทศไทย โดยได้นำเครื่องบินที่ทางราชการสั่งซื้อเป็นจำนวน 8 เครื่อง มายังประเทศไทยโดยบรรทุกมาทางเรือ เป็นเครื่องบินแบบ “นิเออปอร์ต” จำนวน 4 เครื่อง และแบบ “เบรเกต์” อีก 4 เครื่อง นำมาไว้ในโรงเก็บที่สนามม้าสระปทุม
ทั้ง 3 นาย ที่สำเร็จการบิน ได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พล.อ.ท.พระยาเฉลิมอากาศ น.อ.พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และ น.อ.พระยาทยานพิฆาฏ ตามลำดับ กองทัพอากาศ จึงถือว่าท่านทั้ง 3 นาย เป็น “บุพการีทหารอากาศ” ทั้งยังได้เป็นครูฝึกสอนการบิน และช่างเครื่องให้กับนักบินรุ่นต่อๆ มาด้วย
วันที่ 29 ธันวาคม 2456 เป็นวันที่แผนกการบิน ได้ทำการทดลองบินด้วยเครื่องทั้ง 8 ลำ ของประเทศไทย เป็นครั้งแรกที่สนามม้าสระปทุมนั่นเอง โดยในวันนั้นมีทั้งข้าราชการฝ่ายทหาร และพลเรือน รวมทั้งประชาชนมากมาย แห่กันไปชมการบินอย่างคับคั่ง เป็นความสำเร็จครั้งแรกของกิจการการบินของไทย
หลังจากวันนั้น นายทหารทั้ง 3 นาย ได้ช่วยกันสร้างรากฐานการบินของไทยไว้เป็นอย่างดี ทำให้กิจการบินได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนในที่สุด สนามม้าสระปทุม สถานที่ที่ใช้เป็นแผนกการบินก็ดูจะคับแคบเกินไป ในปีต่อมาจึงต้องย้ายสนามบินมาอยู่ที่ดอนเมือง
วันที่ 27 มีนาคม 2457 กระทรวงกลาโหม ได้ออกคำสั่งให้ตั้ง “กองบินทหารบก” ขึ้นโดยมีที่ตั้งอยู่ที่สนามบินดอนเมือง นั่นเอง หลังจากก่อตั้งการบินทหารบกได้ไม่ถึง 2 เดือน พล.อ.ท.พระยาเฉลิมอากาศ ได้ประกาศศักดาเสืออากาศไทย ด้วยการนำเครื่องบินเบรเกต์ 3 ที่สร้างขึ้นเองด้วยวัสดุภายในประเทศ (ยกเว้นเครื่องยนต์) ขึ้นทดลองบินที่ระยะสูง 300 ฟุต เป็นผลสำเร็จ มีสมรรถนะไม่แพ้เครื่องจากต่างประเทศ
ต่อมาสงครามโลกครั้งที่ 1 ในทวีปยุโรปได้ระเบิดขึ้น ประเทศมหาอำนาจ คู่สงครามต่างก็สร้างเครื่องบินออกมาใช้ ทำยุทธเวหากันอย่างอุตลุด มีการพัฒนาแสนยานุภาพทางการบินกันอย่างใหญ่โต และในครั้งนั้นเครื่องบิน จึงได้มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างมากมาย ทั้งทางด้านการทหารและพลเรือน เทคโนโลยีการบินจึงได้ถูกออกแบบอย่างซับซ้อน มีการพัฒนากันอย่างไม่หยุดหย่อน
วันที่ 19 มีนาคม 2461 กระทรวงกลาโหมของไทย ได้ยกฐานะกองบินทหารบกขึ้นเป็น “กรมอากาศยานทหารบก” จากนั้น ไทยเราก็มีการสร้างเครื่องบินขึ้นอีกเรื่อยๆ ในอีก 9 ปีถัดมา นายทหารช่างไทย ก็สามารถสร้างตัวถังเครื่องบิน ประกอบเข้ากับเครื่องยนต์ฝรั่งได้เองสำเร็จ เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดปีก 2 ชั้นแบบบริพัตร
วันที่ 23 มิถุนายน 2470 ทำการทดลองบินเมื่อ และอีก 2 ปีถัดมา ได้ออกแบบเครื่องบินขับไล่ให้กองโรงงานสร้างขึ้น ได้รับพระราชทานชื่อว่า “ประชาธิปก” ทั้ง 2 รุ่นนี้ ก็ได้เข้าประจำการในกองทัพหลายสิบปี เป็นความสำเร็จครั้งแรกและครั้งเดียวที่คนไทยสามารถผลิตเครื่องบินเองได้
พอสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลง ก็ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบนั้นด้วย ทำให้การสร้างเครื่องบินใช้เองนั้น เป็นการลงทุนที่สูงมาก การผลิตเครื่องบินของคนไทยยังทำกันได้น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดซื้อเครื่องบินจากฝรั่ง และมหาอำนาจเอเชียประเทศใหม่ คือ ประเทศญี่ปุ่น
การจัดซื้อจากประเทศเหล่านี้จึงคุ้มค่ากว่า และนับจากนั้นคนไทยก็ไม่เคยผลิตเครื่องบินเองอีกเลย แต่ในช่วงเวลานี้ กองทัพไทย ก็ยังมีการพัฒนาศักยภาพการบินขึ้นเรื่อยๆ จำนวนเครื่องบินที่ถูกสั่งเข้ามามีมากขึ้น เพื่อใช้งานทางด้านกิจการทหารและพลเรือน
วันที่ 9 เมษายน 2480 สืบเนื่องมาจากการพัฒนาทางด้านอากาศยานของโลกได้มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาก จึงต้องมีการขยายการดำเนินงานของกองทัพให้ใหญ่โตขึ้นด้วย กระทรวงกลาโหม จึงได้ยกฐานะของกรมทหารอากาศเดิม ขึ้นเป็น “กองทัพอากาศ” บ้านเราจึงได้มีกองทัพอากาศไทยขึ้นในปีนั้นเอง ช่วงนั้นไทยมีเครื่องบิน คือ
- เครื่องบินขับไล่ที่นั่งเดี่ยว ปีก 2 ชั้นคือ เคอร์ติส ฮอว์ก - 2 ขาแข็ง (พับฐานไม่ได้) จำนวน 1 ฝูง และเคอร์ติส ฮอว์ก - 3 พับฐาน จำนวน 2 ฝูง
- เครื่องบินโจมตี และตรวจการแบบ วอจ์ต คอร์แซร์ ปีก 2 ชั้น 2 ที่นั่ง มีพลปืนหลัง จำนวน 2 ฝูง
- เครื่องบินทิ้งระเบิด มาร์ติน 139 WSM แบบปีกชั้นเดียว 2 เครื่องยนต์ จำนวน 6 เครื่อง แต่เมื่อถูกส่งมาถึงได้ไม่นาน ลำตัวเครื่องก็มีอันหักพังเสียหายไป 1 เครื่อง ตกในทุ่งนาแถวสถานีรถไฟหลักสี่
- ต่อมากองทัพอากาศไทยได้ซื้อลิขสิทธิ์แผนแบบ ฮอว์ก – 3 กับคอร์แซร์ มาให้กรมช่างอากาศยานผลิตออกมาใช้เป็นจำนวนมาก
กองทัพอากาศไทย ถือได้ว่าเป็น หนึ่งในกองทัพอากาศที่เก่าแก่ ในยุคที่รุ่งเรืองสูงสุดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพอากาศไทย คือ กองทัพอากาศที่มีอานุภาพมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากญี่ปุ่น กองทัพอากาศไทย จึงมีบทบาทอย่างสูงในกรณีพิพาทอินโดจีน ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
พ.ศ.2483 ประชาชนจำนวนมาก เกิดความเคียดแค้นชิงชังฝรั่งเศส จนพาออกมาเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาลไทยในการเรียกร้องขอดินแดนคืนจากฝรั่งเศส สงครามอินโดจีน เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลไทย ในสมัยนั้น ได้เกิดปัญหาข้อพิพาท การปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับเขตอินโดจีน (ลาว – กัมพูชา) ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส
หลังการรบทหารบกที่เขมร และทหารเรือที่เกาะช้าง กองทัพอากาศไทยก็ได้แสดงศักยภาพการเป็นเสืออากาศการรบในสมรภูมิจริงอันห้าวหาญ ให้ปรากฏเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ปีนั้น เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลไทย จะประกาศสงครามกับฝรั่งเศส อย่างเป็นทางการ
ช่วงนั้น อินโดจีนฝรั่งเศส มักส่งเครื่องบินเข้ามาบินก่อกวนในเขตของไทยเราบ่อยๆ และในวันนี้เอง เครื่องบินทิ้งระเบิด ฟามัง จำนวน 2 เครื่อง บินล้ำเข้ามาเหนือน่านฟ้า อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ไทยเราจึงส่งเครื่องบินขับไล่ 3 เครื่องขึ้นไปสกัดกั้น จนมีทีท่าว่าจะปะทะกันอยู่แล้ว แต่อยู่ดีๆ เครื่องฟามัง ของฝรั่งเศสชิ่งหนีกลับไปทางเวียงจันทน์เสียก่อน
หลังจากนั้น ฝรั่งเศสก็ได้ปฏิบัติการบินยุแหย่ไทยเราไปพักใหญ่ กองทัพอากาศไทย จึงสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ ที่มีสมรรถนะเท่าเทียมกับเครื่องบินของฝรั่งเศส จากสหรัฐอเมริกา คือ เครื่องบินขับไล่ปีกชั้นเดียว เคอร์ติส ฮอว์ก 75 N จำนวน 16 เครื่อง มูลค่า 468,000 US (อัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น 1 เหรียญ เท่ากับ 2.50 บาท)
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2483 ในขณะที่กำลังขนส่งมาทางเรือถึงกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ รัฐบาลสหรัฐ ได้สั่งกักเครื่องบินทั้งหมด ที่จะนำมาให้กองทัพอากาศไทยไว้ที่นั่น เพราะขณะนั้นไทยกำลังพิพาทกับฝรั่งเศส อเมริกา กลัวไทยจะมีอาวุธทัดเทียมอินโดจีนฝรั่งเศส แล้วจะชนะสงคราม
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2483 เวลา 08.00 น. เครื่องบินไทย 2 เครื่อง ขึ้นบินสกัดกั้นเครื่องบินของฝรั่งเศส 4 เครื่อง เหนือน่านฟ้าจังหวัดอุดรธานี ปะทะกันได้ครู่หนึ่ง ฝรั่งเศสก็ถอนตัวกลับไป ในวันเดียวกัน และเวลาเดียวกันนี้เอง ได้มีเครื่องบินแบบโมราน ซอนเยร์ ของฝรั่งเศสจำนวน 5 เครื่อง บินเข้ามาทิ้งระเบิดที่นครพนม
ฝ่ายไทย ได้ส่งเครื่องบิน บ.ข. 17 ฮอร์ค 3 จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องบิน บ.ต. 23 คอร์แซร์ 1 เครื่อง ขึ้นบินสกัดกั้น เมื่อเครื่องบินของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าปะทะกัน เครื่องบินฝรั่งเศส 2 เครื่องดำดิ่งลงมาหาเครื่องบินของไทย เพื่อล่อให้แตกหมู่ออกมา ส่งผลให้เครื่องของไทย 1 เครื่อง หลุดเดี่ยวออกไป เครื่องบินฝรั่งเศส อีก 3 เครื่อง จึงบินเข้ามารุมกินโต๊ะทันที
เป็นศึกรุม 3 ต่อ 1 แต่เสืออากาศไทย ควบคุมสติไว้มั่น พยายามล่อหลอกให้เครื่องบินฝรั่งเศส ที่มีสมรรถนะสูงกว่าไล่เกาะหลัง เมื่อยิงพลาดเป้า เครื่องบินฝรั่งเศส ทั้ง 3 เครื่องจึงบินถลำหน้าไปแล้วตกเป็นเป้าเสียเอง เลยถูกไทยยิงใส่จนควันโขมง เครื่องบินไทยอีกลำหนึ่งได้เข้าช่วยแก้สถานการณ์ ชุลมุนกันอยู่พักใหญ่ เครื่องของฝรั่งเศส ก็โกยแน่บบินหนีไป
รวมเวลารบกันทั้งสิ้น 17 นาที ต่อมา เครื่องบินของฝรั่งเศส ที่ถูกไทยยิก ได้ไปตก 1 เครื่องในเขตอินโดจีน ส่วนเครื่องบินฝ่ายไทยไม่ได้รับความเสียหายใดๆ นับเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของกองทัพอากาศไทยในครั้งนั้น ที่หักหน้าอินโดจีนฝรั่งเศสได้
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2483 มีเครื่องบินฝรั่งเศส เข้ามาบินตรวจการณ์เหนือเมืองนครพนม ไทยเราจึงส่งเครื่องบิน ฮอว์ก – 3 ขึ้นขับไล่จนฝรั่งเศสต้องบินหางจุกตูดหนีออกไปอีก พอวันต่อมา ฝรั่งเศส ก็มาบินตรวจการณ์เหนือบ้านศรีเชียงใหม่ และอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย อีก ไทยจึงส่งเครื่องบินคอร์แซ บุกไปทิ้งระเบิดทำลายหน่วยที่ตั้งทางทหารของฝรั่งเศส ที่เมืองท่าแขก ผลก็คือ หน่วยทหารแห่งนั้น โดนถล่มยับเยินไม่มีชิ้นดี
วันที่ 1 ธันวาคม 2483 เกิดการปะทะกันกลางอากาศเหนือน่านฟ้านครพนม ระหว่างเครื่องบินของไทย 1 เครื่องกับเครื่องบินฝรั่งเศส 2 เครื่อง ปะทะกันอยู่ราว 10 นาที เครื่องบินฝรั่งเศสจึงโกยอ้าวถอยหนีไปอีก และไม่ปรากฏความเสียหายทั้งสองฝ่าย
ในวันเดียวกันนั้น เวลา 08.30 น. ฝั่งชายทะเลตะวันออก นาวิกโยธินฝรั่งเศส แอบยกพลมาทางเรือพยายามจะขึ้นบกที่ฝั่งทะเลจังหวัดตราด เมื่อไทยเราทราบ กองบินจังหวัดจันทบุรี จึงส่งเครื่องบินขับไล่ เข้าถล่มกองเรือนาวิกโยธินฝรั่งเศส ทำให้ไม่สามารถยกพลขึ้นบกได้ และโกยแน่บถอยกลับไปทางเกาะกง เขมร
วันที่ 8 ธันวาคม 2483 เพื่อตอบแทนคุณงามความดีอินโดจีนฝรั่งเศส ไทยได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด คอร์แซร์ ขึ้นบินจากฐานบินอุดรธานี ไปโจมตีที่ตั้งทางทหารของฝรั่งเศสที่เวียงจันทน์ ผลปรากฏว่าฐานที่มั่นฝรั่งเศสเสียหายยับเยิน แต่เครื่องบินทิ้งระเบิดของไทย ก็ถูกปืนต่อสู้อากาศยานยิงอย่างหนักหน่วง ถูกกระสุนถึง 20 แผล แต่ก็ยังสามารถประคองเครื่องกลับมาถึงฐานบินไทยได้สำเร็จ นักบินทั้ง 2 นายปลอดภัย
วันนั้นเอง ญี่ปุ่น ก็ยกพลขึ้นบกสู่ประเทศไทย เข้ามาทางอ่าวไทย จึงได้เกิดการปะทะกันระหว่างทหารไทย และทหารญี่ปุ่น ตลอดแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย นักบินของไทย จึงนำเครื่อง ฮอร์ค 3 จำนวน 3 เครื่อง บินขึ้นจากสนามบินวัฒนานคร เข้าห้ำหั่นต่อสู้กับเครื่องบินแบบนากาจิมา กิ -27 (โอตะ) ของญี่ปุ่น 20 เครื่อง
ซึ่งไทยเราเสียเปรียบทั้งทางด้านความเร็ว สมรรถนะ และจำนวนเครื่อง ทำให้ไทยถูกเครื่องบินญี่ปุ่นยิงตกจนหมด นักบินเสียชีวิต ไทยประกาศหยุดยิง และยอมให้ญี่ปุ่น เดินทัพผ่านประเทศไทย ซึ่งต่อมาไทยเราก็ได้เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายญี่ปุ่นในที่สุด
วันรุ่งขึ้น ฝรั่งเศส เสียหน้าจัด จึงตอบโต้โดยการเข้ามาทิ้งระเบิดที่อุดรธานี เครื่องบินขับไล่ของไทยจึงบินขึ้นสกัดกั้น แต่คราวนี้เครื่องบินไทยถูกยิงตกและนักบินเสียชีวิต ในระหว่างนี้เครื่องบินทยอีกลำ มีการรบกันกลางอากาศในรูปแบบตัวต่อตัวกับฝรั่งเศส ผลปรากฏว่านักบินฝรั่งเศส ถูกยิงตายและเครื่องบินตกลงสู่พื้นดิน
วันที่ 10 ธันวาคม 2483 ไทยส่งเครื่องบินคอร์แซร์ไปทิ้งบอมบ์ฝรั่งเศสที่เวียงจันทน์ใหม่อีกครั้ง เครื่องของไทยได้ถูกปืนต่อสู้อากาศยานของฝรั่งเศส ยิงโดนเข้าที่ถังน้ำมัน จนไฟลุกไหม้ นักบิน ถูกกระสุนเข้าที่เข่า และถูกไฟลวก แต่ก็ยังพยายามประคองเครื่องบินคู่ชีพเข้ามายังฝั่งไทยและกระโดดร่มลงมา ส่วนพลปืน ตกลงพร้อมกับเครื่องเสียชีวิต ต่อมานักบินบาดเจ็บสาหัสและได้เสียชีวิตไป
** ตอนต่อไป..ติดตามว่าการรบระหว่างกองทัพอากาศไทย กับฝรั่งเศส ใครจะแพ้ และเมื่อมีสงครามโลกครั้งที่ 2 มาซ้ำไทยพอดี ประชาชนจะต้องเจออะไร
Cr, เสธ น้ำเงิน3